#จัดส่งกับDhl

รวมมาให้แล้ว! วิธีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศผ่านออนไลน์ พร้อมวิธีคำนวณภาษีนำเข้า

facebook sharing button
twitter sharing button
linkedin sharing button
Smart Share Buttons Icon Share
รวมมาให้แล้ว! วิธีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศผ่านออนไลน์ พร้อมวิธีคำนวณภาษีนำเข้า

นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาไทยได้ง่ายกว่าเดิมผ่าน DHL Express ผู้ให้บริการขนส่งด่วนระหว่างประเทศ ตอบทุกโจทย์นำเข้า ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าเพื่อการค้า นำเข้าเพื่อการผลิตหรืออุตสาหกรรม หรือนำเข้าสินค้า ของใช้เพื่อใช้งานส่วนตัว

ขั้นตอนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ที่คุณสามารถทำรายการได้เองผ่านออนไลน์ กับ DHL Express

1.   คลิก https://www.mydhl.express.dhl เว็บไซต์ของ DHL Express ที่สามารถทำรายการส่งออกและนำเข้าได้ในที่เดียว (แนะนำให้ทำผ่านเดสก์ท็อป)

2.   เลือกประเทศต้นทาง และประเทศปลายทาง ซึ่งหากเป็นการนำเข้า ให้เลือกประเทศปลายทางเป็นประเทศไทย

3.   กรอกรายละเอียดชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรและอีเมล ของผู้ส่งในประเทศต้นทาง และชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรและอีเมลของผู้รับในประเทศไทย (ผู้นำเข้า) โดยกรอกเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด

สำคัญ! โปรดตรวจสอบข้อมูลที่กรอกให้ถูกต้อง เนื่องจากข้อมูลการจัดส่งทั้งหมดจะถูกอัปเดตผ่านอีเมลและ SMS ตามเบอร์โทรศัพท์ที่ให้มา และเจ้าหน้าที่จะเข้ารับของและส่งของตามที่อยู่ที่กรอกลงไปในขั้นตอนนี้

4.   กรอกรายละเอียดของที่จะนำเข้าว่าเป็นเอกสารหรือพัสดุ วัตถุประสงค์ของการนำเข้า และรายละเอียดของสินค้า ได้แก่ จำนวน มูลค่าสินค้าพร้อมสกุลเงิน น้ำหนัก ประเทศที่ผลิตสินค้า

5.   กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับกล่องหรือบรรจุภัณฑ์ว่ามีทั้งหมดกี่กล่อง น้ำหนักเท่าไหร่ ขนาดเท่าไหร่ (กว้าง ยาว สูง)

6.   เลือกวันที่ต้องการจัดส่ง และชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต

7.   เมื่อชำระเงินแล้ว คุณจะได้รับหมายเลข waybill สำหรับติดตามสถานะการจัดส่ง

8.   สามารถพิมพ์หรือดาวน์โหลดเอกสาร รวมถึงแชร์เอกสารไปยังผู้ส่งที่ประเทศต้นทางเพื่อพิมพ์แนบพร้อมกับการจัดส่ง

9.   หลังจากนั้น ผู้ส่งที่ประเทศต้นทางจะได้รับลิงค์จาก DHL Express เพื่อให้ยืนยันวันที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปรับของ ยืนยันที่อยู่ รายละเอียดสินค้า ขนาดของกล่อง

10.            เมื่อได้รับการยืนยันจากผู้ส่งที่ประเทศต้นทาง เจ้าหน้าที่จะเข้าไปรับของเพื่อเตรียมขนส่งและนำเข้ามาในประเทศไทยต่อไป

สิ่งของที่ห้ามนำเข้ามาในประเทศไทย

ก่อนจะนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ควรตรวจสอบก่อนว่ามีข้อห้ามอะไรหรือไม่ เพราะถึงแม้ว่าสินค้าบางอย่างอาจมีจำหน่ายหรือใช้ในต่างประเทศเป็นเรื่องปกติ แต่อาจเข้าข่ายเป็นสินค้าที่ไม่สามารถนำเข้ามาในประเทศไทยได้ หรือเป็นสินค้าผิดกฎหมาย ตัวอย่าง ของต้องห้าม (Prohibited items) ได้แก่

  • เงินสด รวมถึงธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ปลอม
  • ทองคำแท่ง
  • สัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ที่อยู่ในบัญชีควบคุมของอนุสัญญาไซเตส
  • งาช้าง
  • สิ่งผิดกฎหมายทุกชนิด ได้แก่ ยาเสพติด ของลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้า สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา วัตถุหรือสื่อลามก
  • บุหรี่ไฟฟ้าและบารากู่

อะไรคือ “ของต้องกำกัด”

ของต้องกำกัด คือของที่สามารถนำเข้ามาในไทยได้ แต่มีกฎหมายควบคุมการนำเข้าและส่งออกนอกประเทศ จึงต้องมีใบอนุญาตเป็นหนังสือจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หรือต้องมีใบรับรองถึงการปฏิบัติถูกต้องตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับและเงื่อนไขของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นๆ ก่อนที่จะนำเข้าหรือส่งออกจะต้องนำหลักฐานใบอนุญาต ใบรับรองต่างๆ นั้นมาแสดงในขณะดำเนินพิธีการศุลกากรด้วย

ตัวอย่างของต้องกำกัดในการนำเข้ามาในประเทศไทย ได้แก่

  • พระพุทธรูป ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ (หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตคือ กรมศิลปากร)
  • อาวุธปืน กระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตคือ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย)
  • พืชและส่วนต่างๆของพืช (หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตคือ กรมวิชาการเกษตร)
  • สัตว์มีชีวิตและซากสัตว์ (หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตคือ กรมปศุสัตว์)
  • สัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่า (หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตคือ กรมอุทยานแห่งชาติฯ)
  • อาหาร ยา เครื่องสำอาง อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์ (หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)
  • ชิ้นส่วนยานพาหนะ (หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตคือ กระทรวงอุตสาหกรรม)
  • บุหรี่ ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตคือ กรมสรรพสามิต)
  • เครื่องมือวิทยุสื่อสาร อุปกรณ์โทรคมนาคม (หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตคือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ)
  • ของเล่น ต้องมีใบอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

นำเข้าสินค้าเข้าไทยเป็นครั้งแรก ต้องลงทะเบียนผู้นำเข้ากับกรมศุลกากรก่อน

รู้ยัง! กรมศุลกากรได้พัฒนาระบบออนไลน์ใหม่ชื่อว่า Customs Trader Portal สำหรับผู้นำเข้าเป็นครั้งแรก ให้ลงทะเบียนและเลือกตัวแทนออกของ (เช่น DHL Express) ได้ง่ายดายยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยผู้นำเข้าไม่จำเป็นต้องเดินทางมาลงทะเบียนด้วยตัวเองที่จุดบริการศุลกากรหรือฝากตัวแทนนำบัตรประชาชนตัวจริงมาแสดงที่จุดบริการศุลกากรอีกต่อไป

การลงทะเบียนผู้นำเข้ากับศุลกากรเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง แนะนำให้ผู้นำเข้าลงทะเบียน Customs Trader Portal ล่วงหน้า เพื่อให้การนำเข้าเป็นไปอย่างสะดวก ไม่ล่าช้า โดยระบบลงทะเบียนของกรมศุลกากรนี้เปิดให้บริการระยะแรกสำหรับผู้ลงทะเบียนที่เป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนกับกรมศุลกากรเท่านั้น

คลิกลงทะเบียน ที่นี่ แล้วยืนยันตัวตนผ่านธนาคารกรุงไทยทุกสาขา ตู้เอทีเอ็มและแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ดูรายละเอียดขั้นตอนการลงทะเบียนแบบเข้าใจง่าย พาทำทีละขั้นตอน คลิก

วิธีการคำนวณภาษีอากรนำเข้าสินค้า

ไม่ว่าคุณจะนำเข้าสินค้าหรือของใช้ส่วนตัว ชิปเมนต์นั้นจะต้องผ่านพิธีการศุลกากรขาเข้าเพื่อเข้าสู่ประเทศไทย ต้องมีการสำแดงต่อศุลกากรโดยพิจารณาจากข้อมูลต่างๆ เช่น ประเทศต้นทาง มูลค่าและปริมาณ หากเป็นชิปเมนต์ที่จะต้องเสียอากร ผู้รับจะต้องชำระภาษี (ภาษีศุลกากรหรือภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บสำหรับสินค้าเมื่อขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ)

การเรียกเก็บอากรขาเข้า เป็นไปตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 2 โดยการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ถ้าสินค้ามีมูลค่า CIF รวมกันมากกว่า 1,500 บาท หรือเป็นสินค้าต้องกำกัด จะต้องเสียอากรขาเข้า

ราคา CIF คือ

  • Cost : ราคาสินค้า ดูได้จาก Commercial Invoice
  • Insurance : ค่าประกันภัย 1% ของราคาสินค้า
  • Freight : ค่าขนส่งระหว่างประเทศ

ให้เอาทั้ง 3 ตัวมารวมกันก็จะได้ราคา CIF = ( Cost + Insurance + Freight )

วิธีการคำนวณ

  • (ค่าสินค้า + ประกันภัย + ค่าขนส่งระหว่างประเทศ ) = CIF
  • ราคา CIF x อัตราภาษีขาเข้า = อากรขาเข้า
  • (ราคา CIF + อากรขาเข้า) x อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม = ภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • อากรขาเข้า + ภาษีมูลค่าเพิ่ม = ค่าภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระ

โดยอัตราภาษีที่ต้องชำระสำหรับสินค้าแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับพิกัดอัตราศุลกากร หรือ Harmonized System code ซึ่งถูกตั้งขึ้นและดูแลโดยองค์การศุลกากรโลก เช่น รองเท้ากีฬาใช้สำหรับวิ่ง จัดเข้าประเภทพิกัด 6402.19.90 มีอัตราอากร 30%, นาฬิกาข้อมือ จัดเข้าประเภทพิกัด 9102.11.00 มีอัตราอากร 5% เป็นต้น สามารถสืบค้นได้ที่เว็บไซต์กรมศุลกากร หัวข้อ "ค้นหาพิกัดอัตราศุลกากร"

วิธีชำระภาษีนำเข้า

หากผู้นำเข้าใช้บริการนำเข้า กับผู้ให้บริการขนส่งด่วนระหว่างประเทศอย่าง DHL Express จะได้รับความสะดวกสูงสุดเพราะ DHL Express เป็นผู้ให้บริการขนส่งด่วนระหว่างประเทศที่ได้ทำการลงทะเบียนและได้รับการอนุญาตให้ดำเนินพิธีการศุลกากรที่ถูกต้องแทนผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกแล้ว

โดย DHL Express จะชำระอากรให้ล่วงหน้าในนามของลูกค้าเพื่ออำนวยความสะดวก ทำให้สินค้าส่งถึงมือผู้รับได้เร็วขึ้น และจะเรียกเก็บเงินจากผู้รับในขั้นตอนการส่งสินค้า (door to door service) พร้อมค่าธรรมเนียมสำรองจ่ายภาษี (Disbursements) สำหรับชิปเมนต์นั้น และ DHL Express มีบริการที่เรียกว่า Advance Duty Collection (ADC) เพื่อส่งข้อความแจ้งยอดภาษีนำเข้าที่่ต้องชำระผ่าน SMS หรืออีเมล ซึ่งผู้รับสามารถคลิกลิงค์ในอีเมลหรือ SMS เพื่อจ่ายผ่านระบบออนไลน์ด้วยบัตรเครดิต หรือนำเงินสดมาชำระกับเจ้าหน้าที่คูเรียร์ที่จัดส่งก็ได้

แต่ถ้าไม่ได้ชำระภาษีอากร เจ้าหน้าที่คูเรียร์จะไม่สามารถนำส่งสินค้าได้ โดยสินค้าจะถูกเก็บไว้ที่คลังสินค้าของ DHL Express และจะเตรียมนำส่งเมื่อมีการชำระภาษีแล้ว ทั้งนี้ จะมีค่าธรรมเนียมในการเก็บสินค้าที่คลังสินค้าด้วย

ให้ DHL Express นำเข้าสินค้าให้คุณ

สะดวกกว่าเดิม! ด้วยบริการนำเข้าสินค้าด่วนจาก 200 ประเทศทั่วโลกเข้ามายังประเทศไทย พร้อมดำเนินพิธีการศุลกากรและจัดส่งถึงมือ โดยที่ผู้รับ (ในประเทศไทย) สามารถทำรายการนำเข้าได้ด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์ พร้อมชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต แล้วปล่อยให้เรื่องการขนส่งระหว่างประเทศเป็นหน้าที่ของเรา 

รับชมวิดีโอสาธิตการทำรายการนำเข้าโดยละเอียดทุกขั้นตอนได้ ที่นี่